วรรณกรรมพื้นบ้านภาคอีสาน

นิทานพื้นบ้านอีสาน
นิทานพื้นบ้านอีสาน

ในส่วนของภาคอีสานถือได้ว่าเป็นภูมิภาค ที่รวบรวมเอาศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้านไว้เป็นอย่างมากซึ่งนอกเหนือจากการฟ้อนรำและการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์  ที่เรามักจะพบเห็นกันอยู่เสมอแล้ว  อีกสิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวอีสาน  นั้นก็คือ  นิทานพื้นบ้านซึ่งเป็นวรรณกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวสืบต่อกันมา  บ้างก็เป็นนิทานที่ให้คติสอนใจ  บ้างก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณี  รวมไปถึงขนบธรรมเนียมต่างๆ มากมาย   และก็ยังมีบางส่วนที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาที่ไปของสถานที่ต่างๆ จนทุกวันนี้  หากจะนับวรรณกรรมนิทานพื้นบ้านอีสาน  ก็คงจะนับได้ไม่ถ้วน เช่น นิทานพื้นบ้านอีสานตำนานผาแดงนางไอ่  ซึ่งเป็นเรื่องราวความเชื่อของพญานาค และเรื่องราวเรื่องเล่าของหนองน้ำที่ชื่อหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดสกลนคร  ซึ่งก็เป็นความเชื่อที่มีสืบทอดต่อเนื่องมายาวนาน เกี่ยวกับตำนานของพญานาคจนถึงปัจจุบัน  หรือไม่ว่าจะเป็นนิทานพื้นบ้านเรื่องปู่ปะหลาน  ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สะท้อนสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ของหมู่บ้านซึ่งเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ในช่วงเวลาหนึ่งของภาคอีสาน สอดแทรกไปด้วยเรื่องราวที่สนใจ  และมีความสะท้อนใจอยู่ในเรื่อง หรือจะเป็นนิทานพื้นบ้านเรื่องขี้เหล้าเล่นหม้อ  หรืออีกเรื่องที่ถือได้ว่าเป็นตำนานของภาคอีสาน นั่นก็คือเรื่องกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ซึ่งถือได้ว่าเรื่องนี้เป็นนิทานวรรณกรรมที่สอดแทรกเรื่องราวและคติสอนใจได้เป็นอย่างมาก

วรรณกรรมพื้นบ้านของภาคอีสาน จึงเป็นเหมือนศูนย์รวมเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับ นิทานที่เป็นคติสอนใจทั้งหลาย  ที่คนรุ่นปู่รุ่นย่าได้นำมาใช้ในการสอนลูกสอนหลาน  สำหรับดำเนินชีวิตรวมไปถึงการปฏิบัติตนอย่างรู้กาลเทศะ ซึ่งแน่นอนว่า ในปัจจุบันนี้  เรื่องราวบางเรื่อง คนรุ่นใหม่ก็ยังไม่ค่อยรู้จัก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะค่านิยมและยุคสมัยที่เปลี่ยนไป  การเรียนรู้หรือรับฟังเรื่องราววรรณกรรมพื้นบ้านไม่ว่าจะเป็นของภาคอีสาน  หรือไม่ว่าภาคไหนก็ตามดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลกับเยาวชนในยุคนี้ออกไปเป็นอย่างมาก  จึงเป็นที่น่าเสียดายถ้าหากวรรณกรรมพื้นบ้านที่เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระดีๆ ที่สอดแทรกมาพร้อมกับความบันเทิง  และถูกใช้ในการกล่อมเกลา อบรม บ่มนิสัย  ให้กับเด็กๆถูกลดเลือนหายไปตามสมัยนิยม  ดังนั้น  การอนุรักษ์วรรณกรรมพื้นบ้านก็เทียบได้กับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยให้ยังคงอยู่และเป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันไป

ซึ่งในส่วนของการอนุรักษ์วรรณกรรมพื้นบ้านต่างๆ นั้น  คงไม่อาจอาศัยบุคคลคนเดียวแล้วจะทำให้ประสบความสำเร็จได้  แต่อาจจะต้องอาศัยถึงคนในรุ่นนี้ทุกคนช่วยกันสืบสานนำนิทานพื้นบ้านที่มีอยู่ในอดีต กลับมาบอกเล่าและใช้เป็นเรื่องราวในการสอนลูกหลานให้ดำเนินชีวิตอย่างมีคติธรรมประจำใจ  การที่เด็กๆได้เรียนรู้รูปแบบวิถีชีวิตความดีความชั่ว ความถูกความผิด จากนิทานพื้นบ้านวรรณกรรมต่างๆ เหล่านี้ก็ยังแต่จะทำให้ เกิดประโยชน์ แก่เยาวชนและประเทศชาติสืบต่อไปนั่นเอง